พิมพ์เขียวแผนแม่บท 20 ปี พัฒนาระบบราง ครอบคลุม 62 จังหวัด เชื่อมอีอีซี ลาว จีน มาเลย์ สิงคโปร์ ทุ่ม 2.7 ล้านล้าน ยกเครื่องรถไฟทางคู่มุ่งไฮสปีดเทรน อัพเกรดระบบเป็นไฟฟ้า ดึงเอกชนลงทุน 7.2 แสนล้าน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่าวันที่ 22 ก.ย. 2560 ที่ผ่านมา สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จัดรับฟังความคิดเห็น โครงการศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ การท่องเที่ยวและการพัฒนาพื้นที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยแผนพัฒนาระบบราง ครอบคลุม 62 จังหวัดทั่วประเทศ ช่วง 20 ปีจากนี้ไปก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต้นปี 2561

พิมพ์เขียวระบบรางทั่วประเทศ

นายชยธรรม์ พรหมศร รองผู้อำนวยการสนข.เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำแผนแม่บท (มาสเตอร์แพลน) การพัฒนาโครงข่ายรถไฟทั้งประเทศ เป็นแกนหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจ สนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ 10 จังหวัด การท่องเที่ยวและการพัฒนาพื้นที่ ให้สอดคล้องกับนโยบายยุทธศาสตร์ประเทศ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี) เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางและขนส่งสินค้าระหว่างเมือง และประเทศในภูมิภาค เช่น สปป.ลาว จีน มาเลเซีย สิงคโปร์

สร้างความมั่นใจนักลงทุน

อีกทั้งสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่สำคัญ ๆ เช่น ประตูการค้า อีอีซี เนื่องจากระบบโครงสร้างพื้นฐานเป็นหัวใจหลัก เนื่องจากจะลดต้นทุนด้านการขนส่งและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ

“แผนแม่บทระบบรางเคยศึกษาเมื่อปี 2553 แต่ไม่ครอบคลุมทั้งหมด ตอนนั้นยังไม่มีอีอีซี เขตเศรษฐกิจพิเศษ รถไฟความเร็วสูง ไม่ได้จัดลำดับความสำคัญของโครงการ จึงทบทวนมาสเตอร์แพลนใหม่ ปลายปีนี้จะแล้วเสร็จ ต้นปี 2561จะนำเสนอกระทรวงคมนาคมและ ครม.เพื่อให้หน่วยงานนำโครงการจัดทำรายละเอียดโครงการ จากเดิมต่างคนต่างเสนอโครงการ แต่แผนแม่บทนี้จะกำหนดโครงการที่จะลงทุนไว้ชัดเจน ไม่มีเปลี่ยนแปลง”

ลงทุน 20 ปีกว่า 2.7 ล้านล้าน

โดยกำหนดกรอบการพัฒนา 20 ปี ใช้เงินลงทุนกว่า 2.7 ล้านล้านบาท โดยรัฐลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน 1.973 ล้านล้านบาท เอกชนลงทุนด้านงานระบบและบริการเดินรถ 729,083 ล้านบาท แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ 1.ระยะเร่งด่วน (2560-2564) เงินลงทุน 829,802 ล้านบาท รัฐลงทุน 642,802 ล้านบาท เอกชนลงทุน 187,000 ล้านบาท 2.ระยะกลาง (2565-2569) เงินลงทุน 897,568 ล้านบาท รัฐลงทุน 692,128 ล้านบาท เอกชนลงทุน 205,441 ล้านบาท 3.ระยะยาว (2570-2579) เงินลงทุน 975,564 ล้านบาท รัฐลงทุน 638,922 ล้านบาท เอกชนลงทุน 336,642 ล้านบาท

“ให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน เช่น จัดหาหัวรถจักรและล้อเลื่อน ตามแผนใช้เงิน 178,172 ล้านบาท การเดินรถด้วยระบบไฟฟ้าอาจให้สัมปทานเอกชนดำเนินการ และยังมีระบบรถไฟความเร็วสูง เป็นต้น”

เพิ่มทางคู่ 2.7 พัน กม.

การพัฒนามี 6 แผนงาน ประกอบด้วย 1.รถไฟทางคู่ในปัจจุบัน รวมระยะทาง 2,777 กม. เงินลงทุน 426,061 ล้านบาท อยู่ในแผนเร่งด่วน 7 โครงการ 993 กม. 136,462 ล้านบาท มี สายฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย, จิระ-ขอนแก่น, ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร, หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์, ลพบุรี-ปากน้ำโพ, มาบกะเบา-จิระ และนครปฐม-หัวหิน

แผนระยะกลาง 7 โครงการ 1,392 กม. ลงทุน 209,256 ล้านบาท มีสายปากน้ำโพ-เด่นชัย, ขอนแก่น-หนองคาย, จิระ-อุบลราชธานี, ชุมพร-สุราษฎร์ธานี, สุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา, หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์และชุมทางศรีราชา-มาบตาพุด และแผนระยะยาว 2 โครงการ 392 กม. เงินลงทุน 80,343 ล้านบาท มีสายเด่นชัย-เชียงใหม่ กับชุมทางคลองสิบเก้า-อรัญประเทศ

ทุ่ม 5 แสน ล.ตัด 8 เส้นทางใหม่

2.ทางรถไฟสายใหม่ขนาดราง 1 เมตร14 โครงการ 2,352 กม. เงินลงทุน 501,690 ล้านบาท อยู่ในแผนระยะเร่งด่วน 3 โครงการ 839 กม. เงินลงทุน 167,761 ล้านบาท มีสายเด่นชัย-เชียงของ, บ้านไผ่-นครพนม และสุราษฎร์ธานี-ท่านุ่น ระยะกลาง 4 โครงการ 642 กม. 184,746 ล้านบาท มีสายนครสวรรค์-ตาก-แม่สอด, กาญจนบุรี-บ้านภาชี, สงขลา-ปากบารา และบ้านภาชี-อ.นครหลวง แผนระยะยาว 7 โครงการ 871 กม. 149,183 ล้านบาท มีสายมาบตาพุด-ระยอง-จันทบุรี-ตราด, อุบลราชธานี-ช่องเม็ก, กาญจนบุรี-บ้านพุน้ำร้อน, นครสวรรค์-บ้านไผ่, ทับปุด-กระบี่, สุราษฎร์ธานี-ดอนสัก และชุมพร-ระนอง

ไฮสปีด 8 สายเชื่อมภูมิภาค

3.รถไฟความเร็วสูงขนาดราง 1.435 เมตร 8 โครงการ 2,457 กม. เงินลงทุน1.497 ล้านล้านบาท ระยะเร่งด่วน 3 โครงการ 675 กม. เงินลงทุน 429,437 ล้านบาท มีสายกรุงเทพฯ-ระยอง, กรุงเทพฯ-นครราชสีมาและกรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะกลาง 2 โครงการ 735 กม. 421,783 ล้านบาท มีสายกรุงเทพฯ-พิษณุโลก กับ นครราชสีมา-หนองคาย ระยะยาว มี 3 โครงการ ระยะทาง 1,047 กม. เงินลงทุน 646,334 ล้านบาทได้แก่ สายพิษณุโลก-เชียงใหม่, หัวหิน-สุราษฎร์ธานี และสุราษฎร์ธานี-ปาดังเบซาร์ 4.โครงการคลังเก็บสินค้า (CY) 20 แห่งเร่งด่วน 8 แห่ง ได้แก่ คลองลึก, นาม่วงบ้านกระโดน, หว้ากอ, นาผักขวง, มาบอำมฤต, บ้านสะพลีและหนองปลาดุกแผนระยะกลาง 9 แห่ง ได้แก่ ศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าโลจิสติกส์นาทา, บ้านตะโก, บุฤาษี, หนองแวง, บุ่งหวาย, บางกระทุ่ม, วังกะพี้, บางกล่ำและสุไหงโก-ลก ส่วนระยะยาว 3 แห่งที่ ห้างฉัตร สารภี และหนองสัง

อัพเกรดเดินรถเป็นระบบไฟฟ้า

5.พัฒนาระบบการเดินรถจากดีเซลรางเป็นระบบไฟฟ้า เงินลงทุน 87,152 ล้านบาท แผนเร่งด่วนเป็นศึกษาจัดทำแผนที่นำทางปรับเปลี่ยนไปสู่การใช้ระบบไฟฟ้าในการเดินรถ แผนระยะกลาง เงินลงทุน 31,999 ล้านบาท มีก่อสร้างทางรถไฟขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าสายหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ก่อสร้างและติดตั้งระบบการเดินรถด้วยระบบไฟฟ้าช่วงชุมทางบางซื่อ-บ้านภาชี-แก่งคอย-ถนนจิระ ระยะยาว 55,153 ล้านบาท ช่วงชุมทางบางซื่อ-หนองปลาดุก-หัวหิน, บ้านภาชี-ปากน้ำโพ, บางซื่อ-มักกะสัน-ฉะเชิงเทรา-พัทยา, จิระ-ขอนแก่น, ปากน้ำโพ-พิษณุโลก และหัวหิน-ชุมพร

6.จัดหารถจักรและล้อเลื่อน 181,233 ล้านบาท แยกเป็นหัวรถจักร 416 หัว รถชุด 1,215 คัน รถโดยสาร 1,242 คันรถสินค้า 3,890 ล้านบาท ระยะเร่งด่วนใช้เงินลงทุน 86,958 ล้านบาท

สร้างรถไฟครอบคลุม 62 จังหวัด

ผลจากการลงทุนตามแผนแม่บท จะมีโครงข่ายรถไฟเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าจากปัจจุบัน 4,043 กม. เป็น 8,852 กม. เป็นทางคู่เกือบ 90% รถไฟความเร็วสูงกว่า 2,000 กม. จากเดิมครอบคลุม 47 จังหวัด เป็น 62 จังหวัด ทำให้ความสามารถในการแข่งขันประเทศขยับจากอันดับที่ 42 เป็น 37

“แผนเร่งด่วนเน้นปรับปรุงทางเดิมให้มีประสิทธิภาพและปลอดภัย สร้างทางคู่ 1 เมตร และเพิ่มสร้างทางสายใหม่ สนับสนุนโลจิสติกส์ประเทศ ที่ปัจจุบันพึ่งพาถนนเป็นหลัก แล้วถึงพัฒนารถไฟความเร็วสูงให้เชื่อมระหว่างภูมิภาคไปประเทศใกล้เคียง จากนั้นปรับระบบการเดินรถเป็นระบบไฟฟ้าตามเทรนด์โลก”

เอกชนจี้ลงทุนรถไฟเชื่อมลาว-จีน

ด้านความเห็นของภาคเอกชน มีตัวแทน จ.หนองคาย ให้รัฐเร่งสร้างรถไฟหนองคายเชื่อม สปป.ลาว เนื่องจากปัจจุบันจีนก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงจากคุนหมิงมายังเวียงจันทน์แล้ว ร่วม 400 กม. แล้วเสร็จปี 2564 จะได้ประโยชน์ด้านโลจิสติกส์และท่องเที่ยวมากขึ้น จ.ตาก ให้เร่งผลักดันโครงข่ายรถไฟเชื่อมระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก เส้นทางรถไฟสายใหม่จากนครสวรรค์-ตาก-แม่สอดเป็นระยะเร่งด่วน จากเดิมอยู่ในระยะกลาง ให้สร้างคลังสินค้าที่ จ.ตาก ส่งเสริมเป็นฮับขนส่งภูมิภาคตัวแทน จ.มุกดาหาร ให้เพิ่มโครงการคลังสินค้า ส่วนผู้แทนจาก จ.นราธิวาส เสนอรัฐลงทุนคลังสินค้าในนราธิวาส และหาดใหญ่

 


แหล่งข้อมูล : ประชาชาติธุรกิจ


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …