นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน กรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 179,000 ล้านบาทว่า การพิจารณารายละเอียดการก่อสร้างตอนที่ 2 ช่วงปากช่อง-คลองขนานจิตร ระยะทาง 11 กม., ตอนที่ 3 ช่วงแก่งคอย-นครราชสีมา ระยะทาง 119.5 กม. และตอนที่ 4 ช่วงแก่งคอย-บางซื่อ ระยะทาง 119 กม. เดินหน้าต่อเนื่อง หลังจากเริ่มก่อสร้างตอนที่ 1 ช่วงกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. แล้วเมื่อวันที่ 21 ธ.ค.ที่ผ่านมา

“ตอนนี้จีนได้ทยอยส่งรายละเอียดการออกแบบก่อสร้างตอนที่ 2 ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พิจารณาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะใช้เวลาพิจารณาไม่นานนัก เพราะมีข้อสรุปเกี่ยวกับรายละเอียดวัสดุอุปกรณ์ที่จะใช้ก่อสร้างหมดแล้ว คาดว่าจะทยอยเปิดประกวดราคา เพื่อหาผู้รับเหมาก่อสร้างได้ในเดือน เม.ย.นี้”

อย่างไรก็ตาม ในการก่อสร้างทั้ง 3 ตอนที่เหลือ ซึ่งแบ่งเป็น 13 สัญญานั้น ไม่ต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา เพราะ ครม.ได้อนุมัติโครงการก่อสร้าง และวงเงินที่ใช้ในการก่อสร้างในภาพรวมไปแล้ว ตั้งแต่ก่อนก่อสร้างตอนที่ 1 ทำให้สามารถก่อสร้างได้ทันที โดยตามแผนงานของกระทรวง ทั้ง 3 ตอน จะประกวดราคาเพื่อเริ่มก่อสร้างให้ได้ทั้งหมดภายในปี 61 นี้ ทั้งนี้ ในวันที่ 8 ก.พ.นี้ จะมีการประชุมรถไฟไทย-จีน ครั้งที่ 23 ที่จีน คาดว่าจะมีความคืบหน้าของการดำเนินงานมากขึ้น ขณะที่ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา จะมี 6 สถานี ได้แก่ สถานีกลางบางซื่อ สถานีดอนเมือง สถานีอยุธยา สถานีสระบุรี สถานีปากช่อง และสถานีนครราชสีมา ตั้งเป้าหมายเปิดให้บริการปี 64 ใช้รถไฟรุ่น FUXINGHAO ซึ่งเป็นรถไฟความเร็วสูงรุ่นล่าสุดของจีน ความเร็วสูงสุด 250 กม./ชั่วโมง (ชม.) ใช้เวลาเดินทางตลอดสาย 1.30 ชม.

 


แหล่งข้อมูล : ไทยรัฐออนไลน์


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …