ถึงจะมีนโยบายให้ทั้ง “ทล.-กรมทางหลวง” และ “กทพ.-การทางพิเศษแห่งประเทศไทย” ไปรีวิวแผนแม่บทมอเตอร์เวย์ 21 สายทางและทางด่วน 37 สายทาง เพื่อลดความซ้ำซ้อนของโครงการ และเสนอต่อที่ประชุม มี “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” เจ้ากระทรวงคมนาคมเป็นประธานการประชุม อีก 1 เดือนนับจากนี้

“มอเตอร์เวย์เป็นการก่อสร้างทางเชื่อมโยงระหว่างเมือง ส่วนระบบทางด่วนเป็นการแก้ปัญหาการจราจรในเขตเมืองเป็นหลัก ให้กรมทางหลวงและการทางพิเศษฯไปดูภารกิจของตัวเองให้ชัด ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนของสภาพัฒน์ รวมถึงให้พิจารณาเพิ่มบทบาทเอกชนร่วมลงทุน 100% หรือบางส่วน เป็นงานระบบและบริหารจัดการ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป” นายอาคมกล่าว

ล่าสุดมีเสียงยืนยันจาก “ธานินทร์ สมบูรณ์” อธิบดีกรมทางหลวง จะยังเดินหน้าลงทุนก่อสร้างมอเตอร์เวย์ตามแผนแม่บทที่กรมศึกษาไว้ ใน 20 ปี (2560-2579) จะก่อสร้าง จำนวน 21 สายทาง รวมระยะทาง 6,612 กม. วงเงินลงทุนกว่า 2.14 ล้านล้านบาท เป็นค่าก่อสร้างกว่า 1.983 ล้านล้านบาท และค่าเวนคืนที่ดิน 159,000 ล้านบาท

“จะไม่ปรับเพราะที่เราศึกษาถือว่ารองรับการเดินทางและการขนส่งสินค้าสอดรับกับยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เข้าถึงแหล่งเศรษฐกิจ ท่องเที่ยว การค้าชายแดน เขตเศรษฐกิจพิเศษ และพื้นที่อีอีซี ครอบคลุมในพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ”

รายละเอียดโครงการ 21 สายทาง มีโครงข่ายเพิ่มเติมจากแผนแม่บทปี 2540 ที่ ครม.อนุมัติไว้ 4,150 กม. กว่า 2,000 กม. ขณะที่ปัจจุบันกรมก่อสร้างและเปิดบริการได้ 204 กม. และอยู่ระหว่างก่อสร้าง 3 เส้นทาง รวม 324 กม. ได้แก่ พัทยา-มาบตาพุด ระยะทาง 32 กม., บางปะอิน-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กม. และบางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กม.

ใน 21 เส้นทาง อยู่พื้นที่ภาคเหนือ 3 สายทาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 สายทาง ภาคกลาง-ภาคตะวันตกและภาคตะวันออกรวม 15 สายทาง และภาคใต้ 3 สายทาง ประกอบด้วย

  1. M2 ตาก-มุกดาหาร ระยะทาง 704 กม.
  2. M3 สุรินทร์-บึงกาฬ ระยะทาง 465 กม.
  3. M4 นครสวรรค์-อุบลราชธานี ระยะทาง 610 กม.
  4. M5 รังสิต-บางปะอิน-เชียงราย (ด่านแม่สาย/เชียงของ) ระยะทาง 908 กม.
  5. M6 บางปะอิน-ด่านหนองคาย ระยะทาง 540 กม.
  6. M7 กรุงเทพฯ-บ้านฉาง ระยะทาง 153 กม.
  7. M8 นครปฐม-นราธิวาส (ด่านสุไหงโก-ลก) ระยะทาง 1,068 กม.
  8. M9 วงแหวนรอบนอกรอบที่ 2 ระยะทาง 165 กม.
  9. M51 เชียงใหม่-ลำปาง (แจ้ห่ม) ระยะทาง 53 กม.
  10. M52 สุพรรณบุรี-ชัยนาท ระยะทาง 42 กม.
  11. M53 วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ รอบที่ 2 ด้านตะวันตก-บางปะหัน ระยะทาง 48 กม.
  12. M61 ชลบุรี-นครราชสีมา ระยะทาง 288 กม.
  13. M62 วงแหวนรอบนอกตะวันออกรอบที่ 2-สระบุรี ระยะทาง 78 กม.
  14. M71 วงแหวนรอบนอกตะวันออกรอบที่ 2-สระแก้ว (ด่านอรัญประเทศ) ระยะทาง 204 กม.
  15. M72 ชลบุรี-ตราด ระยะทาง 216 กม.
  16. M81 บางใหญ่-กาญจนบุรี (ด่านพุน้ำร้อน) ระยะทาง 165 กม.
  17. M82 วงแหวนรอบนอกตะวันตก-ปากท่อ ระยะทาง 74 กม.
  18. M83 สุราษฎร์ธานี-ภูเก็ต ระยะทาง 191 กม.
  19. M84 สงขลา-ชายแดนไทย/มาเลเซีย (ด่านสะเดา) ระยะทาง 83 กม.
  20. M91 วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯรอบที่ 3 ระยะทาง 245 กม. และ
  21. M92 ชลบุรี-นครปฐม ระยะทาง 312 กม.

ใน 20 ปี แบ่งพัฒนา 2 ระยะ ช่วง 10 ปีแรก เริ่มปี 2560-2569 และระยะที่ 2 อีก 10 ปีถัดไป (2570-2579) โดยโครงการใน 10 ปีแรก มี 16 สายทาง รวม 3,120 กม. เงินลงทุน 1.24 ล้านล้านบาท ได้แก่ 1.บางปะอิน-เชียงราย จะเร่งลงทุนช่วงรังสิต-บางปะอิน 18 กม.ก่อน 2.บางปะอิน-หนองคาย 3.กรุงเทพฯ-บ้านฉาง 4.นครปฐม-นราธิวาส เร่งช่วงนครปฐม-ชะอำ-ชุมพร 5.วงแหวนรอบนอกรอบที่ 2 เร่งช่วงด้านตะวันตก 6.เชียงใหม่-ลำปาง 7.ชลบุรี-นครราชสีมา เร่งช่วงท่าเรือแหลมฉบัง-ปราจีนบุรี 8.วงแหวนรอบนอกรอบที่ 2 ด้านตะวันออก-สระบุรี 9.วงแหวนรอบนอกตะวันออก-สระแก้ว 10.ชลบุรี-ตราด 11.กาญจนบุรี-บ้านพุน้ำร้อน 12.วงแหวนรอบนอกตะวันตกรอบที่ 2-ปากท่อ 13.สุราษฎร์ธานี-ภูเก็ต 14.สงขลา-ด่านสะเดา 15.วงแหวนรอบที่ 3 และ 16.ชลบุรี-นครปฐม ส่วนที่เหลือจะเป็นระยะที่ 2 เงินลงทุน 8.7 แสนล้านบาท

 


แหล่งข้อมูล : ประชาชาติธุรกิจ


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …