เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 3 พ.ค. ที่ห้องประชุมปัญญาวิจิตร ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น   นายสมชาย  เลิศลาภวศิน ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท.สภอ.พร้อมคณะผู้บริหารส่วนงานต่างๆ ได้จัดแถลงข่าว “ภาวะเศรษฐกิจและการเงิน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไตรมาส 1 / 2560 และแนวโน้มไตรมาส 2 / 2560” 

นายสมชาย  เลิศลาภวศิน เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือไตรมาสที่ 1 ปี 2560 ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนตามการอุปโภคบริโภคของภาคเอกชนที่ปรับดีขึ้นเล็กน้อย โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากรายได้เกษตรกรที่ขยายตัวจากทั้งด้านราคาและผลผลิต และรายได้การบริการด้านการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวดี เช่นเดียวกับการผลิตในภาคอุตสาหกรรม การค้า และการลงทุนของภาคเอกชนที่ยังขยายตัว

ด้านการใช้จ่ายลงทุนภาครัฐยังเป็นแรงสนับสนุนเศรษฐกิจที่สำคัญในไตรมาสนี้ อย่างไรก็ตามแรงส่งของเศรษฐกิจแผ่วลงบ้างในช่วงปลายไตรมาส สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนตามราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วนอัตราการว่างงานสูงขึ้น

i1h75cG4

ภาวะเศรษฐกิจภาคอีสานยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมี การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ภาคบริการด้านท่องเที่ยว รายได้เกษตรกรกลับมาขยายตัวได้ทั้งด้านผลิตและด้านราคา การลงทุนภาคเอกชนยังขยายตัวดี ตามการก่อสร้างเพื่อที่อยู่อาศัยที่ยังขยายตัวได้ในบางพื้นที่ การใช้จ่ายภาครัฐยังเป็นแรงสนับสนุนเศรษฐกิจสำคัญ การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน ตามการผลิตในอุตสาหกรรมน้ำตาลที่ขยายตัว มูลค่าการค้าผ่านด่านศุลกากรขยายตัวต่อเนื่องตามการส่งออกเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง เหล็ก เครื่องสำอาง สินค้าอุปโภคบริโภค ไป สปป.ลาว การส่งออกผลไม้ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ /เครื่องใช้ไฟฟ้า ไปเวียดนามและจีนตอนใต้ แต่การนำเข้ากลับหดตัวจากที่ขยายตัวในไตรมาสก่อน เป็นผลจากการนำเข้าที่ลดลงของโทรศัพท์มือถือ เสื้อผ้าและสินค้าเบ็ดเตล็ด จากจีนตอนใต้และเวียดนาม อย่างไรก็ตามการนำเข้ามันเส้นจากกัมพูชายังคงขยายตัวดี ส่วนในด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 1.45 สูงขึ้นจากไตรมาสก่อนตามราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง สำหรับอัตราการว่างงานสูงขึ้นจากไตรมาสก่อน จากแรงงานภาคเกษตรที่อยู่ในช่วงการหางานทำ

อย่างไรก็ดี ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้มีการคาดการแนวโน้มเศรษฐกิจของภาคอีสานในปี 2560 จะมีทิศทางสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งมีทั้งปัจจัยสนับสนุนและปัจจัยเสี่ยง โดยปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ มาตรการของภาครัฐ  และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศของกลุ่มจังหวัด และเป็นแรงส่งให้กับการลงทุนภาคอีสาน ส่วนปัจจัยเสียงยังเป็นเรื่องหนี้ในครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นปัจจัยถ่วงการบริโภคของภาคเอกชน.

 

แหล่งข้อมูล : ก่อสิทธิ์ กองโฉม/จิราภรณ์ พอกพูล (ภาพและข่าว)


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …