มหาดไทยเตรียมชง ครม.ชี้ขาด จัดเก็บขยะ 170 บาท/ครัวเรือน หวังลดภาระจ่ายงบประมาณปีละ 1.3 หมื่นล้าน กทม.เผยค่าบริหารจัดการขยะปีละ 6.5 พันล้าน เก็บค่าธรรมเนียมได้เพียง 500 ล้าน เผยร่างกฎหมายรักษาความสะอาดฯฉบับใหม่เปิดช่องเอกชนเข้าบริหารจัดการไม่ต้อง เข้า พ.ร.บ.ร่วมทุน

กระทรวงมหาดไทยเตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมืองให้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พิจารณาก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี เสนอเข้าพิจารณาในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มหาดไทย ซึ่งจะเป็นแกนหลักในการแก้ปัญหาขยะตามโรดแมปที่วางไว้ ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ สาธารณสุข อุตสาหกรรม โดยแผนระยะยาวจะแก้ปัญหาขยะทั้งระบบทั่วประเทศ 26 ล้านตัน/ปี กับขยะสะสมรวม 30 ล้านตันให้ลดลงมากที่สุด

 

n20141116123320_28568
Credit : ไทยรัฐ

 

ขณะเดียวกันจากที่ได้คำนวณต้นทุนการจัดเก็บพบว่า ต้นทุนการจัดเก็บอยู่ที่ 70 บาท/ครัวเรือน/เดือน ค่าขนขยะที่ 100 บาท/ครัวเรือน/เดือน รวม 170 บาท/ครัวเรือน/เดือน โดยจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชี้ขาดว่า จะจัดเก็บจากครัวเรือนเต็มจำนวนหรือค่อยๆ จัดเก็บเพิ่มขึ้นเป็นขั้นบันไดจนครบ 170 บาท เนื่องจากหลายภูมิภาคในประเทศไทย โดยเฉพาะหัวเมืองใหญ่และเมืองท่องเที่ยวต้องขาดทุนจากการจัดการขยะเป็นจำนวนหลายพันล้านต่อปี จึงต้องกลับมาคิดทบทวนว่าจะปฏิบัติอย่างไรให้คุ้มค่า ที่สามารถทำได้คือการเร่งรัดการจัดเก็บขยะ และค่าธรรมเนียม

ขณะนี้อยู่ระหว่างหาแนวทางการนำขยะดังกล่าวไปใช้ โดยเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนซื้อขยะไปบริหารจัดการ อาทิ ผลิตไฟฟ้า โดยร่างกฎหมายฉบับใหม่จะเปิดให้เอกชนเข้าดำเนินการ โดยไม่ต้องอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ

 

MG_0399
Credit: phitsanulokhotnews

 

ทางด้านนายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย มองว่า หลักการจัดเก็บขยะดังกล่าวถือเป็นหลักบริการไม่ได้นึกถึงความคุ้มค่าของรัฐ โดยปกติอัตราจัดเก็บอยู่ที่ 30-40 บาท/เดือน หากจัดเก็บเพิ่มขึ้นเป็น 170 บาท/เดือน เกรงว่าจะกระทบความเป็นอยู่ของประชาชนที่มีรายได้น้อย พร้อมย้ำให้พิจารณาบริบทของแต่ละพื้นที่เนื่องจากบางแห่งไม่มีบ่อขยะเป็นของตนเอง ต้องพึ่งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ซึ่งแต่ละแห่งคิดค่าบริการไม่เท่ากัน ดังนั้น หากกฎหมายออกมาแบ่งเบาค่าใช้จ่ายของภาครัฐก็สามารถทำได้ แต่ไม่ควรถึง 170 บาท/ครัวเรือน/เดือน

ในขณะที่นายกเทศมนตรีนครรังสิต และรองนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ เห็นชอบในหลักการ เนื่องจากการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมค่าจัดการขยะในปัจจุบันไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะในแต่ละปี ส่งผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดึงงบจากส่วนอื่นๆ มาสมทบเพิ่มเติม แต่ทั้งนี้ก็เห็นพ้องต้องกันว่า การจะเพิ่มค่าจัดเก็บเป็น 170 บาท/ครัวเรือน/เดือน ยังคงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก

 

แหล่งข้อมูล : ประชาชาติธุรกิจ
ภาพประกอบ : FHM Thailand, ไทยรัฐ และ phitsanulokhotnews


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …